ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ล้านนา มุ่งมั่นในการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ภายใต้การบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว โดยการเชื่อมโยงภาคส่วนต่างภายในมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนผลงานวิจัยจากคณะและศูนย์ปฏิบัติการ บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิและคณาจารย์ผู้มีเชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ ประกอบกับการเชื่อมโยงประสานงานกันหน่วยงานภาคเอกชน อื่น ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท (Start up Company) และดำเนินธุรกิจต่อไปจนกว่าบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาจะสามารถบริหารจัดการจนเข้มแข็งพอที่จะดูแลตัวเองได้และกลายเป็น Spin-off Company ต่อไป โดยมีระยะเวลาของการเข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจ 1-2 ปี
ขั้นตอนการรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการ
ขั้นตอนที่ 1 ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะ
ผู้มีสนใจในการประกอบธุรกิจใหม่ประกอบด้วย นักศึกษาที่กำลังสำเร็จการศึกษา ศิษย์เก่า มทร ล้านนา อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและผู้สนใจทั่วไป เป็นต้น สมัครเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะวิสาหกิจโดยส่งใบสมัครและเอกสารต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจหรือส่งทางไปรษณีย์หรือไปรษณีย์อิเลคทรอนิกส์
มาตามที่อยู่ดังนี้
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (ชั้น 4 อาคารเรียนรวม)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา
128 ถ. ห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50300
E-mail: rmutl.ubi2016@gmail.com
ขั้นตอนที่ 2 การประเมินผู้สมัครเบื้องต้น โดยคณะกรรมการศูนย์บ่มเพาะ
ผู้สมัครที่ส่งใบสมัครร่วมกิจกรรมจะได้รับการติดต่อหรือเข้ารับการประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับศักยภาพความเป็นไปได้ของธุรกิจซึ่งผู้ที่ผ่านการประเมินเบื้องต้นจะต้องนำเสนอแนวคิดธุรกิจแก่คณะกรรมการกลั่นกรอง (UBI Screening Committee)
ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผู้สมัครโดยคณะกรรมการกลั่นกรอง
ผู้สมัครนำเสนอแนวคิดธุรกิจแก่คณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อพิจารณา คัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการบ่มเพาะและให้ข้อคิดเห็นแนวทางในการบ่มเพาะต่อผู้ผ่านการพิจารณา
ขั้นตอนที่ 4 การจัดทำแผนธุรกิจ
ผู้เข้ารับการบ่มเพาะต้องจัดทำแผนธุรกิจเบื้องต้นของธุรกิจที่จะดำเนินการ โดยได้รับการแนะนำจากทีมงานของหน่วยบ่มเพาะ
ขั้นตอนที่ 5 กิจกรรมการบ่มเพาะ
ผู้เข้ารับการบ่มเพาะที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถขอรับบริการต่าง ๆ จากศูนย์บ่มเพาะ ในการเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจ เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ดังนี้
การบริการคำปรึกษาแนะนำในการเริ่มต้นธุรกิจ (Business Consulting) และการบริการความช่วยเหลือในการ จัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) โดย RMUTL-UBI จะสรรหาผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือด้าน วิชาการในการจัดทำแผนธุรกิจ แผนการตลาดให้แก่ผู้เข้ารับการบ่มเพาะ
การบริการช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เป็นการให้บริการวิชาการในด้านการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรทางวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype)
ขั้นตอนที่ 6 การประเมินผล
ผู้เข้ารับการบ่มเพาะมีการรายงานเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการตลาด ยอดขาย แก่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ตลอดระยะเวลาการบ่มเพาะธุรกิจของโครงการทุก 6 เดือน 12 เดือน 18 เดือน และ 24 เดือน
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา