โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยเชิงนวัตกรรม เปิดบ้านต้อนรับคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าโครงการ BAP+ | ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ

มทร.ล้านนา ขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยเชิงนวัตกรรม เปิดบ้านต้อนรับคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าโครงการ BAP+

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 1 เมษายน 2568 โดย Pakawadee Wutthiwai จำนวนผู้เข้าชม 27 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดบ้านต้อนรับคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการเร่งพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (Business Acceleration Platform) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่เป้าหมาย “Entrepreneurial University” หรือมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ณ ห้องIncubator ชั้น 2 สถาบันจัดการงานสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี (CiNT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

          ภายใต้การต้อนรับอย่างอบอุ่นโดย รองศาสตราจารย์พิเชษฐ ทิพย์ประเสริฐ รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา ที่ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ Entrepreneurial University” งานติดตามความก้าวหน้าโครงการ BAP+ ครั้งนี้สะท้อนภาพการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างรอบด้าน โดยมีการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการจาก ดร.ศศิพัชร์ สันกลกิจ ผู้ช่วยอธิการบดี และแนวคิด “LANNA Spirit” โดย อาจารย์สุทธิศักดิ์ สุขัมศรี ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ที่ผสานเทคโนโลยีกับวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลงตัว เสริมด้วยมุมมองเรื่อง “การเชื่อมโยงคุณค่าโดยมีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นฐาน” จากอาจารย์อจิรภาส์ ประดิษฐ์ ศูนย์พัฒนาความเป็นเลิศ คณะศิลปกรรมฯ พร้อมกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การเยี่ยมชม Maker Space: Engineering Innovation การแลกเปลี่ยนแนวคิดกับภาคีเครือข่ายอย่างคุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ รวมถึงนิทรรศการศิลปะ “เฮินศิลป์ ใจ๋ยอง” นิทรรศการผลงานจักสานแบรนด์ VASSANA และกิจกรรม Learning Express (LEX 2025) แสดงถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่บ่มเพาะนวัตกรรมที่หยั่งรากจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และพร้อมเติบโตสู่ระดับสากลอย่างมั่นคง

          บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์และความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ชุมชน และพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรมและคุณค่าทางวัฒนธรรม มทร.ล้านนา ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดแนวคิด “LANNA Spirit” สู่การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเป็น Entrepreneurial University อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ ขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เป็นอย่างยิ่ง สำหรับคำแนะนำอันทรงคุณค่าและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ BAP+ ในทุกมิติ ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและต่อยอดการดำเนินงานให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม  ตอบโจทย์การยกระดับมหาวิทยาลัยสู่การเป็นพื้นที่สร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

          จากการดำเนินโครงการ BAP+ สอดคล้องกับทิศทางที่ มทร.ล้านนา ได้รับการกำหนดโดย สป.อว. ให้อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมนวัตกรรม (กลุ่ม 2) เพื่อยกระดับภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์และการตั้งธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี (Technology Startup)

 

เป้าหมาย และตัวชี้วัด Sustainable Development Goals (SDGs)

SDG 8 - Decent Work and Economic Growth (การงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ)

SDG 9 - Industry, Innovation and Infrastructure (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน)

SDG 4 - Quality Education (การศึกษาที่มีคุณภาพ)





ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา